นักวิทยาศาสตร์ปลูกถ่ายปอดเทียมในหมูได้สำเร็จ หวังช่วยรักษาชีวิตทารกแรกเกิดในอนาคต
ที่ผ่านมา ทีมนักวิจัยของ University of Texas Medical Branch สามารถเพาะหรือสังเคราะห์ปอดเทียมของมนุษย์ได้สำเร็จมาแล้วในปี 2014 แต่ตอนนี้พวกเขาประสบความสำเร็จไปอีกขั้น เมื่อสามารถปลูกถ่ายปอดเทียมในหมูได้สำเร็จ ซึ่งหมายความว่าเข้าใกล้ความเป็นจริงในการนำเทคโนโลยีนี้มาใช้กับมนุษย์มากขึ้นด้วย
โดยในการเพาะปอดนั้น ทีมนักวิจัยจะต้องสร้างโครงปอดขึ้นมาก่อน ด้วยการใช้น้ำตาลและสารซักฟอกมาผสมกัน เพื่อฟอกเซลล์และเลือดออกจากปอดของหมูให้เหลือเพียงแค่โปรตีนอยู่ในโครงปอดเท่านั้น จากนั้นก็นำโครงปอดหมูไปใส่ไว้ในถังเพาะเลี้ยงที่มีสารอาหารแบบพิเศษ จากนั้นก็นำเซลล์จากปอดของหมูที่จะรับการปลูกถ่ายใส่เข้าไปในปอดที่อยู่ในถังเพาะเลี้ยง และเพาะไว้นาน 30 วัน จากนั้นจึงนำมาปลูกถ่ายในหมูทดลอง 4 ตัว
ปรากฏว่า ภายในเวลา 2 สัปดาห์ ปอดที่ได้รับการปลูกถ่ายเริ่มสร้างโครงข่ายของหลอดเลือดให้แข็งแรงขึ้นเพื่อความอยู่รอด ซึ่งจากการสังเกตการณ์หลังการปลูกถ่ายในช่วงระหว่าง 2 เดือน พบว่าไม่มีสัญญาณใดที่บ่งชี้ว่าระบบภูมิคุ้นกันของสัตว์ปฏิเสธปอดใหม่
งานวิจัยดังกล่าวได้รับแรงบันดาลใจแรกเริ่มมาจากทารกแรกเกิดที่พัฒนาการบกพร่อง โดยเฉพาะอาการที่เรียกว่า Diaphragmatic Hernia (ไส้เลื่อนกระบังลม) ที่ลำไส้เลื่อนไปอยู่ในช่องอก และไปหยุดการเจริญเติบโตของปอด ซึ่ง Joan Nichols หัวหน้าทีมวิจัยชุดนี้ ระบุว่ากรณีดังกล่าวทำให้ทารกเสียชีวิตแทบจะในทันทีที่เกิดออกมา และไม่มีการรักษาใดที่จะช่วยได้ ซึ่งปอดเทียมที่เพาะขึ้นมานี้อาจจะเป็นสิ่งเดียวที่ช่วยรักษาชีวิตของทารกไว้ได้ และหากได้รับการสนับสนุนเงินทุนที่ดี รวมถึงมีอุปกรณ์ที่ดีขึ้น ก็เชื่อว่าการปลูกถ่ายปอดเทียมจะพร้อมใช้งานครั้งแรกภายในระหว่าง 5-10 ปี ข้างหน้า
วิเคราะห์
ในอนาคตงานวิจัยนี้อาจช่วยชีวิตเด็กทารกแรกเกิด และผู้คนมากมายที่ต้องการปอด งานวิจัยนี้ถือว่าเป็นงานวิจัยที่มีประโยชน์ และคุ้มค่าแก่การลงทุนศึกษา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น